ขั้นตอนในการทำเครื่องปั้นดินเผา
วัตถุดิบ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดคือ ดินเหนียว
โดยทั่วไปจะใช้ดินเหนียวท้องนา หรือดินเหนียวที่มีอยู่ทั่วไปบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ
สำหรับแหล่งดินเหนียวคุณภาพดี แต่เดิมใช้ดินเหนียวในพื้นที่
ปัจจุบันต้องซื้อดินเหนียวจากอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ซึ่งซื้อขายกันเป็นลำเรือ ราคาลำละ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ บาท
แหล่งที่มาของวัตถุดิบ
ดินเหนียวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำมาผลิตเครื่องปั้นดินเผา ได้แก่
ดินเหนียวท้องนา และดินเหนียวตะกอนปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นดินเหนียวที่มีเนื้อละเอียด
มีทรายและเศษวัสดุอื่นๆ ปนอยู่น้อย
จึงทำให้ไม่เสียเวลากรองเอาสิ่งเจือปนออกมามากนัก
ปัจจุบันแหล่งดินเหนียวคุณภาพดีเริ่มหายากขึ้น เพราะที่ดินมีราคาแพง
ทำให้ผู้ที่ขุดดินมาขายต้องจ่ายค่าเช่าที่เพื่อทำบ่อดินในราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วยแหล่งดินเหนียวคุณภาพดี
ได้แก่ แหล่งดินเหนียวตะกอนปากแม่น้ำในอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
การเลือกวัตถุดิบ
โดยทั่วไปดินเหนียวจากอำเภอสามโคกนั้น จะเป็นดินเหนียวที่อยู่ลึกลงไปจากระดับหน้าดินเกินกว่า
๒๐ เซนติเมตร เพราะดินบริเวณหน้าดินจะมีอินทรีย์สารและดินเลนผสมอยู่มากเกินไป
ดินจึงมีความเหนียวน้อย ไม่เหมาะที่จะนำมาทำเครื่องปั้นดินเผา ดังนั้น
หน้าดินส่วนนี้จะถูกขุดลอกทิ้ง ดินที่ลึกจากระดับ ๓๐ เซนติเมตร ลงไปอีก ๘๐ เซนติเมตร
หรือลึกไม่เกิน ๑ เมตร ๑๐ เซนติเมตร จะเป็นดินเหนียวที่มีคุณภาพดี
สามารถนำมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้ ส่วนชั้นดินที่ลึกลงไปเกิน ๑ เมตร ๑๐
เซนติเมตร
ก็จะมีทรายปนอยู่มากเกินไปจนไม่สามารถนำมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดีได้
วัสดุอุปกรณ์
๑.เครื่องกวนดิน
๒.ตะแกรงกรองกรวดทราย
๓.เครื่องรีดน้ำ
๔.เครื่องนวดดิน
๕.แป้นหมุนขึ้นรูป
๖.แป้นแกะสลัก
๗.เตาแบบใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง หรือเตาไฟฟ้า
๘.เครื่องมือแกะสลักลวดลาย
การเตรียมวัตถุดิบ
๑.
ดินเหนียวที่ได้มักจะมีความชื้นไม่เท่ากันในแต่ละฤดูกาล อาทิ ฤดูน้ำหลาก
บ่อดินจะถูกน้ำท่วม ดินที่ขุดขึ้นมาจึงเปียกน้ำมาก ดังนั้น
จึงต้องนำดินมาพักไว้ให้แห้งประมาณ ๑ สัปดาห์
และเพื่อให้ดินเหนียวแห้งเร็วยิ่งขึ้น
ก็จะต้องใช้เสียมแซะให้ก้อนดินเหนียวมีขนาดเล็กลง
๒.
เมื่อดินแห้งได้ที่แล้ว นำดินมาหมักแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ ๕-๗ วัน
๓.
จากนั้นจึงนำดินที่หมักไว้มาเข้าเครื่องกวนให้ดินแตกตัวเข้ากับน้ำ
ซึ่งดินที่เข้าเครื่องกวนแล้วก็จะกลายเป็นน้ำดินโคลน
๔.
ตักน้ำดินจากเครื่องกวนมากรองผ่านตะแกรง เพื่อกรองเอากรวดทราย รากไม้
และเศษวัสดุที่ไม่ต้องการออก ก็จะได้น้ำดินที่มีความเข้มข้นสูง
๕.
นำน้ำดินที่ผ่านการกรองแล้วเข้าเครื่องรีดน้ำดิน
โดยตักน้ำดินใส่ถังซึ่งมีท่อต่อเข้ากับเครื่องรีดน้ำดิน
น้ำดินก็จะถูกดูดเข้าเครื่อง แล้วเครื่องก็จะค่อยๆ
บีบอัดเอาน้ำออกจากดินซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๗ ชั่วโมง ก็จะได้ดินเหนียว ๑๐๐
กิโลกรัม ดินที่ออกจากเครื่องรีดน้ำจะต้องพักไว้เพื่อรอเข้าเครื่องนวดดิน
โดยจะต้องมีผ้าพลาสติกมาคลุมไว้เพื่อไม่ให้ดินแห้งเร็วเกินไป
๖.
นำดินมาเข้าเครื่องนวดดิน
เพื่อคลุกเคล้าให้ดินเข้ากันเป็นเนื้อเดียวและมีความชื้นเท่ากัน นอกจากนี้
ยังเป็นการเพิ่มความเหนียวให้กับดินอีกด้วย การนวดดิน ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเตรียมวัตถุดิบ
ดินที่ผ่านการนวดแล้ว จะมีเนื้อดินที่ละเอียด เหนียว
และมีความชื้นพอเหมาะสำหรับการนำไปปั้นขึ้นรูป
การขึ้นรูปและวิธีการทำ
๑.
การปั้นขึ้นรูปโดยแป้นหมุน
นำดินที่ผ่านการนวดแล้วมาปั้นขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนโดยค่อยๆ ใช้มือบีบดินให้ขึ้นรูปเป็นภาชนะตามต้องการ
การปั้นขึ้นรูปในลักษณะนี้จะต้องอาศัยความชำนาญของช่างปั้น
ซึ่งช่างปั้นแต่ละคนอาจจะมีเทคนิคหรือวิธีการที่แตกต่างกันออกไปอาทิ
การใช้เกรียงหรือผ้าชุบน้ำเพื่อทำให้พื้นผิวของชิ้นงานเรียบ
หรือใช้เล็บมือทำลวดลายบนชิ้นงาน
๒.
การปั้นชิ้นงานที่มีรูปแบบเหมือนกัน ในปริมาณมากๆ ให้ได้ขนาดที่เท่ากัน
หรือมีขนาดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ก็อาจจะใช้ไม้ชิ้นเล็กๆ
มาวัดขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางเพื่อให้ได้ขนาดที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด
๓.
เมื่อขึ้นรูปชิ้นงานเสร็จแล้วใช้เส้นลวดขนาดเล็กตัดชิ้นงานขึ้นจากแป้นหมุน
นำไปวางผึ่งลมพักไว้ ๑๒ ชั่วโมง หรือจนแห้งพอที่จะแกะลายได้
๔.
ขูดแต่งพื้นผิวของชิ้นงานให้เรียบเสมอกัน
๕.
นำชิ้นงานที่แห้งพอที่จะแกะลายมาร่างโครงของลวดลายจนรอบทั้งชิ้นงาน
๖.
เริ่มแกะลายโดยใช้มีดปลายแหลมเน้นลวดลายให้ชัดขึ้นแล้วค่อยๆ เพิ่มรายละเอียดของลวดลายจนเสร็จสมบูรณ์
๗.
นำชิ้นงานที่แกะลายเรียบร้อยแล้วมาขูดแต่งพื้นผิวให้เรียบ
และเก็บรายละเอียดเป็นครั้งสุดท้าย
๘.
นำชิ้นงานที่แกะลายเรียบร้อยแล้วผึ่งลมทิ้งไว้ประมาณ ๕-๗ วัน
๙.
เมื่อชิ้นงานที่ผึ่งลมทิ้งไว้แห้งแล้วจึงนำเข้าเตาเผาโดยใช้อุณหภูมิในการเผาประมาณ
๘๐๐-๑,๐๐๐
องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ ๑ วัน จากนั้นจึงพักเตาให้ความร้อนค่อยๆ
คลายตัวอย่างช้าๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ ๑ วัน
จากนั้นจึงนำเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่าย
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น